เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติและเชื่อมต่อ หรือ CAV (connected and autonomous vehicle technologies) เป็นยานยนต์สมัยใหม่ที่ใช้ระบบอัจฉริยะหลายแบบเข้าช่วยงาน ได้แก่ เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (autonomous driving technology) ที่ใช้เซนเซอร์ประกอบกับระบบการคำนวณ เพื่อวางแผนและควบคุมให้ยานยนต์ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้คนบังคับ
ถัดไปคือ เทคโนโลยีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (driver assistance technology) ช่วยตรวจจับจุดอับสายตา ตรวจจับคนเดินถนน เตือนการออกนอกเลน เบรกฉุกเฉิน รู้จำป้ายจราจร เป็นต้น
กลุ่มสุดท้ายได้แก่ เทคโนโลยีสำหรับการเชื่อมต่อ (telematics) ที่ช่วยสื่อสารระหว่างรถเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ประกอบด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย การสื่อสารระยะสั้นแบบเฉพาะ และการสื่อสารระหว่างยานพาหนะกับสิ่งอื่น ๆ (vehicle-to-everything: V2X)
การพัฒนารถอัตโนมัติแบ่งออกได้เป็น 6 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 5 โดยที่ระดับ 0 นั้น คนขับที่เป็นมนุษย์ทำหน้าที่ในการควบคุมทั้งระบบ และลดการควบคุมลงเรื่อย ๆ จนเมื่อถึงระดับ 5 ก็ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดในการขับรถ ภายใต้เงื่อนไขเทียบเท่ากับการขับรถโดยมนุษย์
ปัจจุบันเทคโนโลยี CAV มีบทบาทในตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle: EV) มากขึ้น แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ผลิตแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยี CAV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความต้องการ อย่างในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 22,000 คนต่อปี สูญเสียหลายแสนล้านบาท นอกจากเทคโนโลยี CAV จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานและดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ด้านการวิจัยและพัฒนา CAV กำลังจะมีการสร้างสนามทดสอบยานยนต์ CAV ระดับ 3 ที่ EECi โดยจะมีรถยนต์ที่ สวทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนหลายแห่ง วิจัยและสร้าง EV ที่ใช้เทคโนโลยี CAV ขึ้น และยังมีบริษัทเอกชนรายใหญ่อีกหลายรายที่ลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่พลังงานสูงที่ EECi