ปัญหาหนึ่งของระบบการศึกษาไทย คือ การใช้หลักสูตรแกนกลางแบบเดียวกันในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กทั้งประเทศ ขณะที่เด็กมีทักษะพื้นฐานและความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน จึงเกิดปัญหาเด็กเรียนไม่ทันกันในชั้นเรียน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจุดอ่อนของตนเองอยู่ตรงไหน สุดท้ายเด็กอาจรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้และหลุดออกจากระบบการศึกษาในที่สุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา Adaptive Education Platform แพลตฟอร์มให้บริการอีเลิร์นนิง (e-learning) ที่มีฟังก์ชันติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมช่วยแนะนำเนื้อหาที่ควรทบทวนและศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้แบบอัตโนมัติ
ติดตามการเรียนรู้ ระบุจุดต้องแก้ไข
ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช. เล่าว่า adaptive education หรือการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่ผ่านการปรับให้มีความจำเพาะกับผู้เรียนรายบุคคลกำลังเป็นเทรนด์การศึกษาในหลายประเทศชั้นนำ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันมีความก้าวหน้าจนเอื้อให้นักพัฒนาเทคโนโลยีออกแบบ adaptive education platform รูปแบบต่าง ๆ มาให้บริการติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านระบบอีเลิร์นนิงแบบรายบุคคล เพื่อวิเคราะห์จุดที่อาจเป็นปัญหาในการเรียนรู้ และแนะนำเนื้อหาที่ควรทบทวนหรือควรศึกษาเพิ่มเติมตามหลักคิด adaptive education แบบอัตโนมัติได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นโคชส่วนบุคคลให้แก่ผู้เรียนได้แล้ว ยังเป็นผู้ช่วยที่ทำให้ครูและอาจารย์ทำงานด้านการติดตามคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ระบบการศึกษาไทยเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพนี้ ทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ออกแบบ adaptive education platform เพื่อให้บริการแก่ครูและอาจารย์ในประเทศไทย โดยปัจจุบันภายใต้แพลตฟอร์มนี้มีเทคโนโลยีติดตามกระบวนการเรียนรู้ผ่านระบบอีเลิร์นนิงที่พร้อมให้บริการแล้ว 3 เทคโนโลยี
“เทคโนโลยีแรกคือ BookRoll เทคโนโลยีติดตามการอ่านเอกสารสื่อการเรียนรู้ที่เป็นไฟล์ PDF เพื่อระบุว่าผู้เรียนใช้เวลาอ่านเนื้อหาส่วนไหนมากเป็นพิเศษ มีการขีดเน้นส่วนสำคัญและส่วนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจไว้ตรงจุดไหนบ้าง เทคโนโลยีที่สอง KidBright Simulator เทคโนโลยีติดตามการเรียนรู้ทักษะโค้ดดิง (coding) ผ่านการฝึกเขียนโค้ดในรูปแบบบล็อก (Blockly) โดยระบบจะติดตามความเร็วในการต่อบล็อกแต่ละส่วน จุดที่นำบล็อกออกแล้วต่อใหม่ รวมถึงช่วยนับจำนวนบล็อกที่ใช้ต่อทั้งหมด ซึ่งการติดตามทั้งหมดนี้จะช่วยประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์และความเข้าใจเรื่องการเขียนโค้ดของผู้เรียนได้ ส่วนเทคโนโลยีที่สามที่พร้อมให้บริการแล้วคือ Abdul for Education เทคโนโลยีติดตามการตอบคำถามในระบบแชตบอตเพื่อวัดความเข้าใจ ระบบจะติดตามว่าคำตอบที่ผู้เรียนเลือกหรือพิมพ์ตอบนั้นถูกต้องหรือแสดงถึงความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนหรือไม่ ด้วยเครื่องมือทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทั้งผู้เรียน ผู้สอน รวมถึงผู้ออกแบบเนื้อหาทราบถึงปัญหาที่ผู้เรียนกำลังเผชิญได้ทันที และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีติดตามการเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอเพิ่มเติมด้วย
“หากในอนาคตผู้ออกแบบเนื้อหาจัดทำโครงสร้างของเนื้อหาตลอดหลักสูตรอย่างละเอียดและนำโครงสร้างเหล่านั้นเข้าสู่แพลตฟอร์ม ก็จะเอื้อให้แพลตฟอร์มแนะนำให้ผู้เรียนทราบโดยอัตโนมัติว่าจากปัญหาที่ผู้เรียนกำลังเผชิญควรทบทวนหรือศึกษาเพิ่มเติมเรื่องใด เช่น ผู้เรียนกำลังฝึกทำโจทย์วิชาภาษาอังกฤษเรื่อง error identification ซึ่งจากการตอบคำถามของผู้เรียนทำให้ระบบพบว่าผู้เรียนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่อง past tense และ past perfect tense อย่างมีนัยสำคัญ ระบบก็จะแนะนำเนื้อหาทั้ง 2 ส่วนนี้ให้ผู้เรียนใช้ทบทวนใหม่โดยอัตโนมัติ”
ติดตามง่าย เห็นภาพรวม
ดร.เสาวลักษณ์ เล่าว่า adaptive education platform ผ่านการออกแบบเพื่อช่วยลดเวลาการติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบรายบุคคล ดังนั้นระบบทั้งหมดจึงเป็นระบบอัตโนมัติ เมื่อครูหรืออาจารย์นำสื่อการเรียนรู้เข้าสู่แพลตฟอร์ม แล้วส่งลิงก์ของเนื้อหาให้ผู้เรียนทุกคนใช้เข้าสู่ระบบเพื่อเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ ระบบจะติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนรายบุคคลแบบอัตโนมัติ และสรุปผลการเรียนรู้ให้ทั้งผู้เรียนและผู้จัดการเรียนการสอนทราบทันทีในรูปแบบแดชบอร์ด (dashboard) วิเคราะห์และสรุปผล
“การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิงผ่าน adaptive education platform นำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นเครื่องมือจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เป็นการบ้าน และเป็นโจทย์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตัวเองนอกเวลาในชั้นเรียน ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้สอน ซึ่งจุดเด่นของระบบอีเลิร์นนิงคือ ผู้เรียนใช้ศึกษาหรือทบทวนซ้ำด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา และยังเอื้อให้ผู้เรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้ด้วย”
ปัจจุบันทีมวิจัยเริ่มนำระบบ adaptive education platform ไปทดสอบให้บริการแก่อาจารย์และนักเรียนจำนวน 600 คน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราแล้ว โดยหลักสูตรที่ให้บริการขณะนี้มี 2 หลักสูตร คือ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและการฝึกทักษะโค้ดดิ้งโดยทั้งสองหลักสูตรได้รับการสนับสนุนจาก EEC
“นอกจากนี้ทีมวิจัยกำลังดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาของประเทศไทย เช่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอนและการเรียนให้แก่ครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษาไทย โดยทีมวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนด้านการขยายผล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยมากที่สุด” ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีนี้ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่อีเมล ae@nectec.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ Shutterstock