สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน | TS News

 

ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีประชากรรายได้น้อยและผู้ประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารคุณภาพมากถึง 3.8 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2559 มูลนิธิ SOS Thailand หรือ Scholars of Sustenance Foundation, Thailand ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องการบริจาคอาหารกับผู้ต้องการรับบริจาคอาหาร เพื่อช่วยบรรเทาความหิวโหยและแก้ไขปัญหาอาหารส่วนเกินซึ่งเป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน ปัจจุบันมูลนิธิได้ช่วยส่งต่ออาหารไปแล้วกว่า 9.8 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 41.3 ล้านมื้ออาหาร โดยส่งมอบให้แก่ชุมชนมากกว่า 3,750 แห่ง ช่วยลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฝังกลบได้เกือบ 25,000 ตัน (ตามการรายงานของ SOS Thailand)

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน
ตัวอย่างอาหารที่ได้รับบริจาค อาหารปรุงสุกแล้วที่เหลือจากการจำหน่าย

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน
ตัวอย่างอาหารที่ได้รับบริจาค ผักผลไม้สดที่ผ่านการคัดทิ้งเนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการจำหน่าย

 

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ SOS Thailand ดำเนินงานได้สะดวกและรวดเร็ว มีความพร้อมที่จะขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI ช่วยแนะนำการจับคู่ความต้องการระหว่างผู้บริจาคกับผู้ขอรับบริจาคอาหารแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดภาระและเวลาการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยการวิจัยและพัฒนานี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน
ดร.นันทพร รติสุนทร นักวิจัยทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ เนคเทค สวทช.

 

ดร.นันทพร รติสุนทร นักวิจัยทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ เนคเทค สวทช. เล่าว่า ทีมวิจัยได้นำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลอัจฉริยะที่ได้จากการพัฒนาระบบ Thai School Lunch หรือระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติที่เปิดให้บริการแก่สถานศึกษาทั่วประเทศไทย มาต่อยอดพัฒนาสู่แพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการระหว่างผู้บริจาคกับผู้ขอรับบริจาคอาหารแบบอัตโนมัติ กลไกหลักคือเมื่อผู้บริจาค เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารขนาดใหญ่ ยื่นความประสงค์บริจาคอาหารผ่าน Cloud Food Bank หรือช่องทางรับบริจาคต่าง ๆ ของ SOS Thailand ระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร ปริมาณความต้องการอาหาร (คำนวณจากจำนวนผู้ต้องการอาหารจากแต่ละชุมชน) รวมถึงข้อจำกัดด้านการขนส่งของ SOS Thailand โดยอัตโนมัติ จากนั้น AI จะวิเคราะห์และแนะนำตัวเลือกการจัดสรรอาหารบริจาค พร้อมตารางเส้นทางรับส่งอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจบริหารจัดการอาหารบริจาคแต่ละวันได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน
ภาพตัวอย่างจากแพลตฟอร์ม

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน
ภาพตัวอย่างจากแพลตฟอร์ม

 

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน
ภาพตัวอย่างจากแพลตฟอร์ม

 

ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนาแพลตฟอร์มนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนทดสอบใช้งานร่วมกับมูลนิธิ SOS Thailand ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบภายในสิ้นปีนี้ ระบบนี้จะช่วยสนับสนุนให้ทีม SOS Thailand ขยายผลการดำเนินงานไปยังนอกพื้นที่บริการหลัก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และนครราชสีมาได้ง่ายยิ่งขึ้น (การขยายผลมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายด้าน แพลตฟอร์มที่ทีมวิจัยช่วยพัฒนาเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนหนึ่งเท่านั้น) นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีแผนพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์ม AI นี้ให้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการอาหารบริจาคไปยังกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ โดยจะร่วมกับโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรอาหารบริจาคทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง

ดร.นันทพร เล่าต่อว่า นอกจากเทคโนโลยีข้างต้น ทีมวิจัยยังได้พัฒนาระบบสร้างแคมเนบริจาคอาหาร ซึ่งจะเปิดรับบริจาคอาหารจากทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย รวมถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่มีความต้องการอาหารแบบเฉพาะกิจ เพื่อให้ได้ปริมาณอาหารประเภทที่ต้องการมากเพียงพอสำหรับจัดส่งให้แก่ผู้ที่มีความต้องการอาหารเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน เช่น ผู้ประสบภัยธรรมชาติ

“ในขั้นตอนถัดไปของการดำเนินงาน ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขยายการดำเนินงานของ SOS Thailand ให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่เมืองรอง ภายใต้แผนการจัดตั้ง National Food Bank และในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ให้มุ่งเน้นการจัดสรรอาหารบริจาคตามหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่ผู้รับบริจาคอาหารในแต่ละพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

“การพัฒนาและการใช้งานระบบ Cloud Food Bank รวมถึงแพลตฟอร์ม AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งค่าอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน ค่าเช่าพื้นที่คลาวด์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าซ่อมบำรุง และค่าบริหารจัดการ ดังนั้น SOS Thailand จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเพื่อให้ดำเนินภารกิจต่อไปได้ในระยะยาว และยังเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 การขจัดความหิวโหย และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ดร.นันทพร กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนเงินทุนเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจของ SOS Thailand ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://th.scholarsofsustenance.org/support-sos ส่วนผู้ที่สนใจการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการจัดการอาหารส่วนเกิน หรือสนใจนำระบบดิจิทัลนี้ไปใช้งาน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ เนคเทค สวทช. เบอร์โทรศัพท์ 0 2564 6900 ต่อ 2546 หรืออีเมล nantaporn.ratisoontorn@nectec.or.th

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย เนคเทค สวทช. และ shutterstock

ที่มา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

Leave a Comment