แกะกล่องงานวิจัย : นวัตกรรมสารตัวเติม (filler) สารเคลือบกันน้ำบรรจุภัณฑ์กระดาษ ผลิตจากเปลือกหอยแมลงภู่ | TS News

 

📌 1) เกี่ยวกับอะไร ?

‘หอยแมลงภู่’ เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งด้านการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกสูง ถึงกระนั้น ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ ปริมาณมหาศาลที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ กลับกำลังเป็นปัญหาขยะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะยังขาดแนวทางการจัดการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าแก่การลงทุน

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทรี-บอนดิ้ง จำกัด ดำเนินโครงการ ‘ต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง’ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คือ สารตัวเติม (filler) สำหรับเคลือบเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำให้แก่บรรจุภัณฑ์กระดาษชนิดผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น สารจากเซลลูโลส (cellulose-based) ที่ปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสารตัวเติมนี้ผลิตขึ้นจาก ‘สารแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3)’ ซึ่งเป็นสารประกอบของเปลือกหอยถึงร้อยละ 95

 

📌 2) ดีอย่างไร ?

สารตัวเติมที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นเป็นสารจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) มีความปลอดภัยในการใช้งาน และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูง ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษกันน้ำสามารถใช้สารชนิดนี้เป็นสารตัวเติมสำหรับเคลือบกระดาษที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้มากกว่าร้อยละ ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

 

📌 3) ตอบโจทย์อะไร ?

การที่ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงโดยยังคงคุณภาพของสินค้าได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกลุ่ม EU ที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด

นอกจากนี้การอัปไซคลิง (upcycling) เปลือกหอยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูง ยังช่วยลดปัญหาขยะและเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประเภทนี้ให้คุ้มค่าอย่างยั่งยืน

 

📌 4) สถานะของเทคโนโลยี ?

พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย : เปลี่ยน ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ เป็น ‘สารเคลือบกระดาษ’ และ ‘สารดูดซับคราบน้ำมัน’ สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

Leave a Comment