สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’ | TS News

การปรับเปลี่ยนจากยุคแอนะล็อกเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูล การเรียนรู้ การประกอบอาชีพ และการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตามสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) รายงานว่า ยังมีกลุ่มคนเปราะบางมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย ที่ต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) เนื่องด้วยข้อจำกัดทางกายภาพและการเรียนรู้ ที่ทำให้ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้เข้าถึงสื่อและระบบบริการได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งนั่นส่งผลให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต และเกิดความเหลื่อมล้ำในการนำความรู้มาพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อการดำรงชีพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ดังปัจจุบัน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ (DHCB) และกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้ คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม (digital inclusion)’ โดยแบ่งการพัฒนางานออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ การเข้าถึงการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ และการเข้าถึงระบบบริการดิจิทัล

ที่ผ่านมา สวทช. ได้ดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีผ่าน แพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Accessibility Information and Communication Platform: AI-C (ไอซี))’ จนประสบความสำเร็จแล้ว 2 เทคโนโลยี คือ ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสารและระบบบริการคำบรรยายแทนเสียงสำหรับคนพิการทางการได้ยิน และมีแผนพัฒนาต่ออีก 2 งาน คือ ระบบบริการสื่ออ่านง่ายสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และระบบตรวจสอบการเข้าถึงสื่อดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมสำหรับคนพิการทางการมองเห็นและการได้ยินรวมไปถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตามเป้าหมายที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (good health and well-being) และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม (quality education)

 

‘TTRS’ ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับคนพิการทางการได้ยิน

หนึ่งในปัญหาหลักของคนพิการทางการได้ยินหรือคนหูหนวก คือ ไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้สะดวกเหมือนคนหูดี ทั้งด้วยเหตุผลของการไม่สามารถสื่อสารด้วยเสียง และการไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากภาษาหลักของคนหูหนวกคือภาษามือซึ่งมีไวยากรณ์คนละแบบกับภาษาไทย ดังนั้นคนหูหนวกจึงมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง เช่นเดียวกับคนหูดีที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ประกอบกับคนหูหนวกส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เกินระดับชั้นประถมศึกษาจึงส่งผลให้มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่จำกัด และไม่เข้าใจคำศัพท์และข้อความที่ซับซ้อนได้

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

ทั้งนี้จากจำนวนคนหูหนวกในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 400,000 คน มีประมาณร้อยละ 70 สามารถสื่อสารด้วยภาษามือได้อย่างคล่องแคล่ว และมีเพียงร้อยละ 3 ของคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือได้คล่องแคล่ว สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วด้วย

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’
ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สวทช.

ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สวทช. เล่าว่า สวทช. ได้ร่วมกับ กสทช. และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พัฒนา ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service: TTRS)’ สำหรับให้บริการล่ามแปลภาษาจาก ‘ภาษามือหรือข้อความที่ใช้ไวยากรณ์ภาษามือ’  เป็น ‘เสียงภาษาไทย’ และแปลจาก ‘เสียงภาษาไทย’ เป็น ‘ภาษามือหรือข้อความที่ใช้ไวยากรณ์ภาษามือ’ เพื่อให้บริการด้านการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดีผ่านระบบออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมามีผู้ใช้งานระบบแล้วมากกว่า 2.5 ล้านครั้ง ปัจจุบันมีการใช้บริการเฉลี่ย 1,200 ครั้งต่อวัน

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

“TTRS พัฒนาระบบให้คนหูหนวกเข้าถึงบริการได้มากถึง 4 รูปแบบหลัก คือ video call, video message, chat และ SMS โดยสาเหตุที่พัฒนาให้มีความหลากหลายมากกว่าระบบบริการของประเทศอื่น ๆ (โดยส่วนใหญ่) มาจากการออกแบบระบบให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย เพราะบางพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้ ส่งผลให้การสื่อสารแบบเรียลไทม์อาจมีความติดขัดหรือก่อให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ TTRS ยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คนหูหนวกเข้าถึงบริการล่ามได้ตลอดเวลาอีกด้วย เพราะมีคนหูหนวกจำนวนมากทำงานหรือใช้ชีวิตในเวลากลางคืน หรืออาจต้องเผชิญเหตุการณ์เร่งด่วนที่ทำให้ต้องใช้ล่ามนอกเวลาทำการทั่วไป เช่น การสื่อสารอาการเจ็บป่วยให้หมอทราบ การแจ้งขอความช่วยเหลือจากเหตุด่วนเหตุร้ายต่าง ๆ”

การเพิ่มโอกาสทางการสื่อสารจะช่วยให้คนหูหนวกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงาน เพิ่มโอกาสในการรักษาความเจ็บป่วย และช่วยให้พวกเขาสื่อสารความรู้สึก ความต้องการ และสิ่งที่นึกคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’
สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’
ระบบบริการคำบรรยายแทนเสียง (CC) แบบเรียลไทม์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหูหนวกจำนวนมากขาดโอกาสทางการเรียนรู้ในระดับสูงและพลาดโอกาสการรับทราบข่าวสารอย่างเท่าทันสถานการณ์ มาจากการที่คนหูหนวกไม่สามารถเข้าถึง การบรรยายหรือ การถ่ายทอดสดที่ไม่มีระบบบริการล่ามภาษามือหรือคำบรรยายแทนเสียงให้บริการได้

ดร.ณัฐนันท์ เล่าว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สวทช. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการคำบรรยายแทนเสียงประเภทเปิดและปิดได้ (Closed Captioning: CC) แบบเรียลไทม์ สำหรับขึ้นในรายการโทรทัศน์ การประชุมที่มีความสำคัญ​ของประเทศ และการจัดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย มาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว กลไกการทำงานของระบบแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ การใช้คนถอดคำ การใช้ระบบอัตโนมัติถอดคำ และแบบผสม ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เพราะในกรณีที่มีผู้พูดมากกว่า 1 คน มีการพูดมากกว่า 1 ภาษา และในกรณีที่เสียงพูดไม่ชัดเจนหรือมีเสียงอื่น ๆ นอกจากเสียงพูดรบกวน ระบบอัตโนมัติจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทั้งนี้จากการทดสอบใช้งานจริงพบว่าระบบที่ สวทช. พัฒนาขึ้นสามารถจัดทำคำบรรยายได้ตรงตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนด คือ ขึ้นคำบรรยายได้ภายใน 5 วินาทีหลังจากผู้พูดพูดจบประโยค และมีความแม่นยำ (accuracy) มากกว่าร้อยละ 90

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

“ปัจจุบัน สวทช. พร้อมให้บริการระบบบริการคำบรรยายแทนเสียงแบบเรียลไทม์แล้ว โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับ กสทช. ทดสอบการให้บริการ CC แบบเรียลไทม์แก่ช่องทีวีดิจิทัลทุกสถานีส่งสัญญาณ (MUX) ในช่วงการรายงานสดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่รายงานสดทุกวันเป็นเวลากว่า 2 เดือน และให้บริการ CC แบบเรียลไทม์แก่สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแก่คนหูหนวกแล้ว 5 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล (จ.นครปฐม) วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนการให้บริการแก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้มากขึ้นในอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงอย่างเท่าเทียม”

ทั้งนี้ในปี 2567 ทาง กสทช. มีแผนเพิ่มมาตรการบังคับการมีระบบบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียมแก่คนหูหนวก โดยกำหนดให้ช่องทีวีดิจิทัลของภาครัฐจะต้องให้บริการ CC เพิ่มขึ้นจาก 2 ชั่วโมงเป็น 3 ชั่วโมง ส่วนช่องทีวีดิจิทัลของเอกชนจะต้องเพิ่มจาก 1 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง ดังนั้นการมีเทคโนโลยีภายในประเทศสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการระบบทีวีดิจิทัลปรับเปลี่ยนการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

 

ระบบบริการสื่ออ่านง่าย (Easy read)

ผู้ที่บกพร่องทางการรับรู้ อาทิ บุคคลออทิสติก บุคคลที่บกพร่องทางปัญญา บุคคลที่บกพร่องทางการเรียนรู้ กลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้แตกฉาน เป็นคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ต้องเผชิญความยากลำบากจากการรับรู้ไม่เท่ากับคนทั่วไป ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำความเข้าใจข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีศัพท์เฉพาะ แต่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้ เช่น เอกสารทางด้านกฎหมาย เอกสารด้านสิทธิพลเมือง เอกสารด้านสุขภาพและสาธารณสุข

ดร.ณัฐนันท์ เล่าว่า ปัจจุบัน สวทช. มีแผนพัฒนา ระบบบริการสื่ออ่านง่าย (digital platform for easy to understand communication (easy read) services)’ เพื่อให้บริการคลังคำและคลังภาพสำหรับผลิตสื่ออ่านง่าย สำหรับใช้พัฒนาเครื่องมือแนะนำการแปลงเนื้อหาเอกสารที่เข้าใจยากให้มีข้อความและการนำเสนอที่เข้าใจง่ายขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการแปลงเอกสารประกอบการเรียนรู้และเอกสารที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพ สนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียม โดยคาดว่าการพัฒนานี้จะนำไปสู่การสร้างระบบแปลงข้อมูลแบบอัตโนมัติได้ในอนาคตด้วย

“ทีมวิจัยมีแผนพัฒนาคลังคำและคลังภาพ รวมถึงเครื่องมือแนะนำการแปลงเนื้อหาให้พร้อมใช้งานในระดับเบื้องต้นภายในปี 2567 และตั้งเป้าพัฒนาสู่ระบบแปลงข้อมูลแบบอัตโนมัติในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้า ณ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือในการวิจัยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

เทคโนโลยีตรวจสอบบริการดิจิทัล

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้คนพิการและผู้สูงอายุการเข้าถึงการสื่อสารและข้อมูลสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมแล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ เทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบการเข้าถึงสื่อและบริการว่าเอื้อให้เกิดการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมจริงหรือไม่

ดร.ณัฐนันท์ เล่าว่า อีกหนึ่งภารกิจที่ สวทช. มีแผนเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2567 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบการให้บริการสื่อหรือบริการดิจิทัล โดยแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 3 ส่วน คือ โมไบล์แอปพลิเคชัน เว็บแอปพลิเคชัน และการออกอากาศรายการโทรทัศน์

“โดยในส่วนของโมไบล์แอปพลิเคชันจะพัฒนาเป็น ‘ชุดคู่มือสำหรับตรวจสอบการเข้าถึงการใช้งานแอปพลิเคชัน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการใช้บริการได้อย่างสะดวก (ไม่สามารถพัฒนาระบบอัตโนมัติในการตรวจสอบได้ เนื่องจากมีความหลากหลายของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันสูง) ทางด้านเว็บแอปพลิเคชันจะพัฒนาเป็น ซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบโคด (code) ของเว็บไซต์ ว่าเอื้อให้คนทุกคนเข้าถึงการใช้บริการได้อย่างสะดวกหรือไม่ และในส่วนของการออกอากาศรายการโทรทัศน์ จะพัฒนาเป็นเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบ บริการล่ามภาษามือ บริการคำบรรยายแทนเสียง และบริการเสียงบรรยายภาพ ตามที่ กสทช. กำหนดแบบอัตโนมัติ

สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

ทั้งนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบตรวจสอบ คือ การพัฒนาชุดองค์ความรู้ด้านการออกแบบสื่อและระบบบริการดิจิทัลในรูปแบบที่คนพิการหรือผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศหรือการใช้บริการระบบดิจิทัลได้สะดวกและมีความเท่าเทียม สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสื่อและระบบบริการอย่างเหมาะสม

ดร.ณัฐนันท์ เสริมว่า เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสื่อออนไลน์และระบบบริการดิจิทัลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง digital inclusion อย่างถ่องแท้ สวทช. มีแผนร่วมดำเนินงานกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) จัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัล ภายในปี 2567 ก่อนที่ในปี 2568 จะดำเนินการผลักดันนโยบายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ใช้เทคโนโลยีและชุดองค์ความรู้ที่ สวทช. พัฒนาขึ้น เพื่อตรวจสอบเนื้อหาสื่อออนไลน์และระบบบริการดิจิทัลของภาครัฐว่าคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมใช้ประโยชน์จากสื่อต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ (หรือตามที่กำหนดให้ควรเข้าถึงได้) ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่ต่อไป ส่วนทางด้านการออกอากาศรายการโทรทัศน์ สวทช. มีแผนร่วมดำเนินงานกับ กสทช. สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการออกอากาศรายการโทรทัศน์ของช่องทีวีดิจิทัลต่าง ๆ ตามข้อกำหนดด้านการออกอากาศของ กสทช.

จากทั้ง 4 เทคโนโลยีหลักที่ สวทช. และพันธมิตรเปิดให้บริการหรือกำลังพัฒนาเพื่อให้บริการภายใต้การดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์ม AI-C คณะทำงานมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2571 ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการสื่อสารและบริการดิจิทัลต่าง ๆ ได้ ประโยชน์ทั้งด้านการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพ จะเกิดขึ้นในทันที” ดร.ณัฐนันท์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

Leave a Comment