องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ยืนยันว่า แผนการส่งจรวดขึ้นสำรวจดวงจันทร์จะเดินหน้าตามแผนที่กำหนดปล่อยยานในวันจันทร์นี้ แม้จะเกิดเหตุสายฟ้าฟาดที่บริเวณแท่นปล่อยจรวดหลายครั้งก็ตาม
นาซ่ามีแผนปล่อยจรวด Space Launch System ซึ่งมีความสูงถึง 98 เมตร และเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่ทางองค์กรเคยสร้างมา เพื่อนำส่งแคปซูลเปล่าสำหรับนักบินอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากนาซ่าประสบความสำเร็จจากโครงการยานสำรวจอวกาศ Apollo ที่นำนักบินอวกาศ 12 คนไปยังดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีก่อน
ทั้งนี้ นาซ่าหวังว่า ตนจะสามารถส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์อีกครั้งได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้าหลังการปล่อยจรวดในวันจันทร์นี้ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ขององค์การบางรายยอมรับว่า ความเสี่ยงของการทดสอบการปล่อยจรวดนี้ยังสูงอยู่และอาจมีการลดเวลาการบินของจรวดลงได้
ในส่วนของการทดสอบความพร้อมของนักบินอวกาศนั้น นาซ่านำหุ่นทดสอบ 3 ตัวไปยึดไว้ในแคปซูล Orion ที่หัวจรวดด้วย เพื่อวัดระดับแรงสั่นสะเทือน การเร่งความเร็วและกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงที่สุดประการหนึ่งสำหรับมนุษย์ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศ
รายงานข่าวระบุว่า แคปซูลดังกล่าวมีตัวเซนเซอร์ตรวจจับติดตั้งไว้ถึงกว่า 1,000 ตัว
เจ้าหน้าที่นาซ่าเปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า ทั้งตัวจรวดและแคปซูลนั้นไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ จากภาวะพายุฝนฟ้าคะนองหนักเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และอุปกรณ์ภาคพื้นดินทั้งหลายก็ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เช่นกัน
นาซ่ายืนยันว่า มีเหตุสายฟ้าฟาดถึง 5 ครั้งที่หอคอยซึ่งติดกับตัวจรวดและมีความสูง 183 เมตร เมื่อวันเสาร์ แต่สายฟ้าที่ฟาดลงมานั้นไม่ได้รุนแรงมากพอที่ทำให้ทีมงานต้องทำการทดสอบครั้งใหญ่ต่าง ๆ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีการพยากรณ์ว่า จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองขึ้นอีก แต่ทีมพยากรณ์ประเมินว่า โอกาสที่สภาพอากาศรอบ ๆ ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดานั้นจะอยู่ในระดับที่รับได้ถึง 80% ในวันจันทร์ แม้จะมีโอกาสที่สภาพอากาศจะเลวร้ายลงได้อีกในช่วงเวลาใกล้ ๆ กับการปล่อยยานก็ตาม
สำหรับความพร้อมด้านเทคนิคนั้น เจฟฟ์ สปอลดิง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการทดสอบของนาซ่าเปิดเผยว่า ทีมงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของเชื้อเพลิง หลังการทดสอบนับถอยหลัง 2 ครั้งเมื่อต้นปีนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว แต่วิศวกรก็ยังไม่สามารถยืนยันได้เต็มที่ว่า การแก้ไขต่าง ๆ นั้นจะกำจัดประเด็นน่ากังวลทั้งหมดนี้ไปได้หมดจนกว่าจะใกล้กำหนดเวลาปล่อยยานจริง
ที่มา: วีโอเอ