เศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพา ภาคท่องเที่ยวที่มากเกินไป ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้กำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง รวมไปถึงความน่าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะเติบโตเหมือนในอดีต
เพื่อฟื้นคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการวิจัยและพัฒนาจะช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับที่ต่ำเกินไปโดยในปี 2561 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ร้อยละ 1.11 ขณะที่จากข้อมูลของ UNESCO พบว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนเช่นเดียวกับประเทศไทย และประเทศที่มีรายได้ระดับสูงมีสัดส่วน ดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 1.41 และ 2.43 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในด้านการจัดสรร งบประมาณของภาครัฐในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา แม้ว่างบประมาณ ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.7 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 เป็น 2.6 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 แต่ล่าสุด งบประมาณถูกปรับลดลงเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการหดตัว กว่าร้อยละ 43 ในปีงบประมาณ 2565
การที่งบวิจัยและพัฒนาถูกปรับลดลง มากเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ ประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อรับมือกับโควิด-19 แต่ใน ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะ ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาก็ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากพอ
การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ ที่น้อยเกินไป ยังสะท้อนถึงสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนต่อภาคเอกชนจากเดิมอยู่ที่ระดับ 28:72 ในปี 2558 ลดเหลือเพียง 21:79 ในปี 2562
ทั้งนี้ บทบาทของภาครัฐในการลงทุน วิจัยฯ ที่น้อยเกินไปเช่นนี้ ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐมีบทบาทหลักในการลงทุนวิจัยฯเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยฯ ให้มากขึ้น เนื่องจากการลงทุนมีต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ การที่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเงินทุนที่เพียงพอแก่ภาคเอกชนเพื่อชดเชยกับความเสี่ยง ทำให้ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา
นอกจากเงินลงทุนวิจัยฯ ของภาครัฐ ที่น้อยเกินไปแล้ว ความเชื่อมโยงของการลงทุนวิจัยฯ ระหว่างภาครัฐแล ภาคเอกชนยังมีน้อยมาก จากรายงานการสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการวิจัยฯ ของประเทศไทย ระหว่างปี 2560-2562 ผู้เขียนพบว่า เงินลงทุนวิจัยฯ ของภาครัฐเกือบทั้งหมด ยังจัดสรรให้แก่หน่วยงานวิจัยของรัฐ ขณะที่การวิจัยฯ ในภาคเอกชน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 0.48-0.75 ของมูลค่าการลงทุนวิจัยภาคเอกชน
การที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีความเชื่อมโยงกันน้อย ส่งผลให้เงินลงทุนวิจัยของภาครัฐไม่มีแรงมากพอที่จะกระตุ้น ภาคเอกชนให้ลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น ดังนั้น จึงยากที่ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ร้อยละ 2 ของจีดีพีหรือประมาณ 3.7 แสนล้านบาท ในปี 2570 ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง
ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ภาครัฐมีบทบาทหลัก ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของ ภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้บทเรียนและประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยได้ ดังนี้
สหราชอาณาจักร กำหนดเป้าหมาย ที่จะเพิ่มการลงทุนวิจัยฯ ของประเทศ ที่ร้อยละ 2.4 ของจีดีพีภายในปี 2570 โครงการหนึ่งที่นำมาใช้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยฯ ในภาคเอกชน ได้แก่ โครงการ Catapult Network ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม และงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้จริงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตมูลค่าสูง (High Value Manufacturing) การบำบัดด้วยเซลล์และยีน (Cell and Gene Therapy)
โครงการดังกล่าวสามารถกระตุ้นการลงทุนวิจัยฯ ได้มากขึ้น จากเงินลงทุนเริ่มต้นโดยรัฐในโครงการ Catapult Network ในปี 2562-2563 ราว 236 ล้านปอนด์ สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนได้เพิ่มกว่า 2 เท่า หรือราว 508 ล้านปอนด์ สหรัฐ มีกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้หน่วยงานวิจัยของรัฐ ต้องแบ่งงบประมาณวิจัยฯ ส่วนหนึ่งในแต่ละปี เพื่อนำไปใช้ในโครงการ Small Business Innovation Research (SBIR) ซึ่งให้ ทุนสนับสนุนแก่เอสเอ็มอีในการทำวิจัยฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐและ นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในปัจจุบัน เงินสนับสนุนโครงการ SBIR อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของงบประมาณวิจัยฯ ของภาครัฐทั้งหมด หรือราว 3.2 พันล้านดอลลาร์
ตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ดังกล่าว และประสบความสำเร็จในระดับโลก เช่น บริษัท Qualcomm ซึ่งเป็นผู้ผลิตช ปประมวลผลรายใหญ่ของโลก บริษัท Illumina ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม บริษัท Symantec ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไอที และ บริษัท EnChroma ซึ่งเป็นผู้ผลิตแว่นตาสำหรับผู้ที่เป็นตาบอดสี เพื่อให้นวัตกรรมเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ภาครัฐควรมีบทบาทนำในการเร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้นโดยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนสร้างนวัตกรรมแก่ เอสเอ็มอี เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในระยะยาว
แนวทางการสนับสนุนอาจดำเนินการผ่านหน่วยงานให้ทุนที่มีอยู่ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) รวมทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) หรือการจัดตั้งหน่วยงานให้ทุนใหม่ที่มุ่งให้ทุนแก่เอกชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่มีความคล่องตัวสูง ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว มุ่งให้ทุนงานวิจัยที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูง มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถตอบโจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมได้จริง
บทความโดย วรากร อาวุธปัญญากุล ทาง ทีดีอาร์ไอ