ปมท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. บรรยายพิเศษ “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศ ย้ำสตรีที่ดีต้องมีความรับผิดชอบ และเป็นที่พึ่งของครอบครัว


15/08/2566

พิมพ์

 


ปมท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. บรรยายพิเศษ “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศ ย้ำสตรีที่ดีต้องมีความรับผิดชอบ และเป็นที่พึ่งของครอบครัว

ปลัด มท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. บรรยายพิเศษ “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ให้แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศ ย้ำสตรีที่ดีต้องมีความรับผิดชอบและเป็นที่พึ่งของครอบครัว พร้อมหนุนเสริมบทบาททำงานเป็นทีมเพื่อให้กองทุนเป็นที่พึ่งของสตรี

ปลัด มท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย บรรยายพิเศษ “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ให้แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศ ย้ำสตรีที่ดีต้องมีความรับผิดชอบและเป็นที่พึ่งของครอบครัว พร้อมหนุนเสริมบทบาททำงานเป็นทีมเพื่อให้กองทุนเป็นที่พึ่งของสตรีไทยทุกคน

วันนี้ (15 ส.ค. 66) เวลา 13.30 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอน บอลรูม อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานมอบเกียรติบัตรกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดีเด่น และบรรยายพิเศษ “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ตามโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สู่ความเข้มแข็งในชุมชน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกัมปนาท จักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการ”ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ข้าราชการ หัวหน้าคณะทำงานและคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน พนักงานกองทุนที่ได้รับมอบหมาย จาก 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 800 คน ร่วมรับฟัง

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบประกาศนียบัตรให้แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดีเด่น ได้แก่ 1) จังหวัดที่มีการบริหารจัดการหนี้คงเหลือน้อยที่สุด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ชลบุรี เชียงราย ชัยภูมิ อ่างทอง นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี และสมุทรสงคราม 2) จังหวัดที่มีการบริหารจัดการหนี้คงเหลือลดลงได้มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส อุบลราชธานี นครนายก ยะลา ชลบุรี สมุทรสงคราม นครสวรรค์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ และลพบุรี 3) การแต่งกายผ้าไทยเป็นทีมดีเด่นระดับภาค ประกอบด้วย ภาคอีสาน ได้แก่ กาฬสินธุ์ และเลย ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช และตรัง ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย และเชียงใหม่ ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี และสระแก้ว 4) การแต่งกายผ้าไทยเป็นทีมดีเด่นระดับประเทศ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส และ 5) การแต่งกายผ้าไทยเป็นทีมดีเด่นโดยย้อมสีธรรมชาติ ได้แก่ จังหวัดยโสธร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะพูดคุยกับคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกท่าน ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกคนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนราธิวาส ที่มีผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้คงเหลือยอดเยี่ยม จนสามารถลดหนี้คงเหลือของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จาก 60% เหลือเพียง 1% ภายในระยะเวลา 1-2 ปี นับเป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่งที่จะเป็นต้นแบบให้กับทุกจังหวัดได้เอาไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

บทบาทของสตรีที่ดี ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเป็นผู้คอยดูแลคนในครอบครัว เป็นผู้นำของครอบครัว ชุมชน ซึ่งสตรีที่ดีต้องพึ่งพาตนเองได้ กล่าวคือ เราต้องสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเองก่อน เริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มสตรี พบปะพูดคุย หารือให้การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอย่างเข้มแข็ง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือช่วยกันทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีรายจ่ายและหนี้ลดลง คำว่า “พึ่งพาตนเอง” เนื่องมาจากเราไม่สามารถเลือกผู้นำชุมชน หรือนายอำเภอที่ดีให้กับพื้นที่ของเราได้ แต่ทุกที่มีนายอำเภออยู่แล้ว ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกับทีมงานที่เข้มแข็ง เพื่อไปกระตุ้นให้กับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ได้เห็นความสำคัญ และได้ทำหน้าที่ เพื่อพี่น้องประชาชนของท่านอย่างเต็มความสามารถ ตลอดจนการทำให้นายอำเภอมาร่วมเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการทำงานเหมือนอย่างที่คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้ง 76 จังหวัดทำ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการบูรณาการระหว่างกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดร่วมกับนายอำเภอ เพื่อทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบแนวทางให้กับทีม คือ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด และกำชับกำกับดูแลการทำงาน เพื่อทำงานอย่างเข้มแข็งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากให้พี่ ๆ น้อง ๆ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกท่าน ช่วยกันเป็นผู้นำต้องทำก่อน โดยไม่ต้องรีรอนายอำเภอ อีกทั้งช่วยกันทำให้เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าเราทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและจะช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนของเราสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ”บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มีการบริหารจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะและการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถเปลี่ยนขยะมาเป็นมูลค่า สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ อีกทั้งยังเป็นกองทุนให้กับคนในชุมชน นำไปสู่การที่ประชาชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ตนขอเป็นกำลังใจให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สิ่งที่พวกเราปรารถนาในเรื่องของการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจะนำคำแนะนำของทุกท่านไปร่วมพูดคุยหารือต่อไป จึงขอให้ทุกท่านได้มีความอดทนมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน และขอให้พวกเรานำเอาพลังที่ได้เห็นจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นมารับรางวัลในวันนี้ ไปเป็นแรงกระตุ้นปลุกจิตวิญญาณให้ข้าราชการในพื้นที่ไปช่วยกันขับเคลื่อนงานในทุกด้านของท่าน ทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสตรี ด้านการพัฒนาการทำงานของผู้บริหาร และที่สำคัญ คือ เป็นแรงในการขับเคลื่อนน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ดูแลสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะ ช่วยกันดูแลคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นครอบครัวที่ยั่งยืนด้วยการมีจิตอาสา ช่วยกันดูแลเพื่อส่วนรวม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงกลับไปทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดทุกท่าน และขอชื่นชมจังหวัดนราธิวาส ที่มีความมุ่งมั่น แน่วแน่ในการดำเนินการขับเคลื่อนการลดหนี้คงเหลือจนเห็นเป็นรูปธรรม จึงขอให้ทุกจังหวัดเอาเป็นแบบอย่างได้ถอดบทเรียนของจังหวัดนราธิวาส “แบบเพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกและประชาชน สิ่งที่เป็นความสำเร็จมาจากการวางแผนที่ดี และดำเนินการอย่างรอบคอบ และต้องไม่ทำให้เกิดหนี้เสียอีก

จากที่ได้เห็นรางวัลการแต่งผ้าไทยดีเด่นระดับภาคและระดับประเทศ ตนขอเชิญชวนให้ทุกจังหวัด ได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยสวมใส่ผ้าไทยที่ย้อมสีธรรมชาติ ร่วมกันรณรงค์อนุรักษ์โลก ลดภาวะโลกร้อน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สวมใส่ได้ทุกโอกาส ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และอีกประการที่สำคัญคือการทำหน้าที่ของสตรีที่ดี ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 4 ประการ คือ ประการแรก สตรีที่ดีต้องเป็นแม่บ้านที่ดี ประการที่สอง สตรีที่ดีต้องเป็นแม่ที่ดีของลูก ประการสาม สตรีที่ดีต้องพัฒนาตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ และประการที่สี่ สตรีที่ดีต้องช่วยกันรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยให้กับลูกหลานต่อไป” ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสตรี และเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาศักยภาพสตรี แก้ไขปัญหาของสตรี ที่ผ่านมากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กับสตรีไม่น้อยกว่า 168,031 โครงการ เป็นเงิน 17,060,637,362 บาท มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรี ไม่น้อยกว่า 46,803 โครงการ เป็นเงิน 2,457,857,810 บาท มีผู้ได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 26,163,700 คน

โครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สู่ความเข้มแข็งในชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพแก่กลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในการดำเนินงานกองทุนฯ และเพื่อเสริมสร้างความรู้และสร้างโอกาสให้กับคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการตลาดให้กับสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

ด้านคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารหนี้คงเหลือ เป็นวาระสำคัญของจังหวัด อีกทั้งนายอำเภอก็ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งพวกเราได้ดำเนินการลงพื้นที่เชิงรุก แบ่งทีมไปเคาะบ้านสมาชิกสตรีและกลุ่มเป้าหมาย เพื่อไปสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกหนี้ ค้นหาปัญหา เพื่อช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยการบูรณาการร่วมกันของเจ้าหน้าที่อำเภอ พัฒนาการอำเภอ และภาคีเครือข่าย ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนราธิวาส ดำเนินการภายใต้แนวคิด “เราจะไม่ทิ้งใคร” เราช่วยเหลือทุกคนด้วยจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้จากผลกระทบจากโควิด-19 การลดหนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ รวมไปถึงการช่วยเหลือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในชุมชน

 

แหล่งที่มา: ข่าวกระทรวงด้านความมั่นคง

Leave a Comment