วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566
ปลัดมหาดไทย บรรยายพิเศษ “การสนับสนุนบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลดภาวะโลกร้อน” และมอบโล่เกียรติคุณโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปลัด มท. บรรยายพิเศษ “การสนับสนุนบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลดภาวะโลกร้อน” และมอบโล่เกียรติคุณโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นย้ำ “ทุกคนคือผู้นำ” ที่ทุกลมหายใจต้องต้องคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนและลงมือทำ
ปลัดมหาดไทย บรรยายพิเศษ “การสนับสนุนบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลดภาวะโลกร้อน” และมอบโล่เกียรติคุณโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นย้ำ “ทุกคนคือผู้นำ” ที่ทุกลมหายใจต้องต้องคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนและลงมือทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกหลานได้อยู่ในโลกใบเดียวนี้อย่างมีความสุข
วันนี้ (16 ส.ค. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องแคทลียา 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง “การสนับสนุนบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลดภาวะโลกร้อน” ในงานแถลงผลสำเร็จผลการดำเนินงานและมอบโล่เกียรติคุณโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี นายจิระพงษ์ คูหากาญจน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารสำนักงานเขต ผู้บริหารเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบโล่เกียรติคุณ “โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ให้แก่ผู้บริหารสำนักงานเขต และผู้บริหารเทศบาล แบ่งเป็น 3 ประเภท รวม 25 หน่วยงาน คือ 1) ประเภทสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานเขตดินแดง สำนักงานเขตบางขุนเทียน และสำนักงานเขตประเวศ 2) ประเภทเทศบาลเมือง 13 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองกุฉินารายณ์ เทศบาลเมืองชุมเห็ด เทศบาลเมืองเดชอุดม เทศบาลเมืองตาก เทศบาลเมืองตาคลี เทศบาลเมืองบางคูรัด เทศบาลเมืองบึงยี่โถ เทศบาลเมืองปากพูน เทศบาลเมืองเมืองปัก เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ เทศบาลเมืองสะเดา เทศบาลเมืองหล่มสัก และเทศบาลเมืองอรัญญิก และ 3) ประเภทเทศบาลตำบล 9 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลขัวมุง เทศบาลตำบลเขื่องใน เทศบาลตำบลคลองตำหรุ เทศบาลตำบลท่าช้าง เทศบาลตำบลท่าทอง เทศบาลตำบลบวกค้าง เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เทศบาลตำบลนาป่า และเทศบาลตำบลสูงเนิน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) ที่สำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการร่วมกัน Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ ภายใต้การนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ซึ่งในวันนี้มีสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ได้มาร่วมหัวจมท้ายเป็นผู้นำช่วยกันลดภาวะโลกร้อนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นพิเศษซึ่งปรากฏเป็นข้อมูลข่าวสารไปทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศวิกฤตสภาพภูมิอากาศใหม่ “ภาวะโลกเดือด” ที่ทวีความรุนแรงยิ่งไปกว่าภาวะโลกร้อน และจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ สะท้อนผ่านปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบทวีปยุโรป เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 47 องศาเซลเซียส หรือในทวีปเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ชี้ชัดแล้วว่า “โลกเดือด” เริ่มใกล้เคียงกับความเป็นจริงและใกล้เคียงกับตัวเราทุกวินาที
“ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นทำให้พวกเราข้าราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงที่ต้องรับผิดชอบ ด้วยการสื่อสารสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในสังคม ทั้งภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชนภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคราชการทั้ง 77 จังหวัด 878 อำเภอ และอีก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อนให้โลกของเรา ซึ่งในวันนี้นับเป็นที่น่ายินดีที่ทุกท่านร่วมกันอย่างเข้มแข็งเพื่อช่วยกันทำให้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกที่ดีของโลกใบนี้ในการลดการปล่อยก๊าซเสียที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งในปัจจุบันองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้ช่วยกันทำแผนและฐานข้อมูล มีกิจกรรม (Activities) ภายใต้การขับเคลื่อนของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง ทำกิจกรรมที่จะส่งผลประโยชน์ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยกันรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับรายงานจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) ที่ได้ลงพื้นที่ทวนสอบโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนใน 22 จังหวัด โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand) ของจังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ สามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมี บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน ซึ่งในเฟสแรก สามารถซื้อขายได้จำนวน 3,140 ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท ถูกส่งกลับไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ช่วยรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนช่วยกันเป็นพลเมืองดีของโลก” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า โครงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ทำให้เราได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตนั้น ด้วยมีกำลังหนุนเสริมที่สำคัญจากภาคีเครือข่ายวิชาการ คือ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน (อ.นิ๊ค) ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยทำมาตรวิทยา (Metrology) ร่วมกับทาง TGO ตรวจสอบและรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ จึงเป็นที่มาของการคำนวณว่าเราสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเสียได้ จนทำให้สามารถต่อยอดไปถึงการขายให้ได้เงินและส่งคืนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยทำมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่า “เราให้ความสำคัญและลงมือทำทันทีเพื่อลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง” และยังคงเดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต และนอกจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ อาทิ การจัดทำธนาคารใต้ดิน การน้อมนำพระราชดำริการสร้างความมั่นคงทางอาหารในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 สวนสมุนไพร และลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนจัดทำผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) เพื่อทวงคืนและดูแลพื้นที่ของน้ำให้ฟื้นคืนกลับมามีสภาพแวดล้อมที่ดีดังเดิม รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกโอกาส ซึ่งทั้งหมดที่เราดำเนินการไปนั้นเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ
“จึงขอฝากไปยังผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกท่านว่า “ความสำเร็จของการทำงานขึ้นอยู่กับผู้นำ” ซึ่งทุกท่านต้องแสดงออกและให้ความสำคัญในเรื่องการลดภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจนและจริงจัง เฉกเช่นที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำมาโดยตลอด เช่น การร่วมกับ TGO ใช้วัสดุธรรมชาติปราศจากสารเคมีในกระบวนการผลิตผ้าไทยที่สามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถตอบสนองในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ “ผู้นำจึงมีความสำคัญ” ผู้นำต้องทำก่อน ต้องรวมทีม สร้างทีม มาร่วมกันพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถอดบทเรียนการทรงงานจากโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ ว่าการจะทำให้เกิดผลลัพธ์ของการทำงานที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ต้องเกิดการรวมกลุ่มโดยมีผู้นำในพื้นที่เป็นแกนหลักที่สำคัญ เช่น อบต.โก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ. ลพบุรี ที่มีโครงการถังขยะทองทำ โดยการนำขยะมาคัดแยก เพื่อรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ เกิดเป็นมูลค่าสะสม ตั้งแต่ก่อตั้งถึงปัจจุบันรวมกว่า 30 ล้านบาท กลายเป็นกองทุนสวัสดิการให้กับหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เกิดการแบ่งเบาภาระงานของทางราชการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้นำต้องวางระบบการสื่อสารตลอดเวลา ทำให้มีการสื่อสารในองค์กร ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนทุกคนได้ตระหนักและช่วยการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะโลกใบนี้อยู่ในมือของทุกคน ทุกการกระทำของมนุษย์ล้วนมีผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันหาวิธีลดปัญหาโลกร้อน ด้วยสติคิดใคร่ครวญว่า “เป็นวาระสำคัญ” ที่ต้องทำสิ่งที่ดีในทุกวัน ไม่ใช่สักแต่ทำเพียงแค่เป็น Event ทุกลมหายใจต้องช่วยกันคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกหลานของพวกเราทุกคนได้อยู่ในโลกใบนี้อย่างมีความสุข ด้วยวิถีชีวิตที่อยู่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ช่วยกันนำเอากิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อนไปสู่การจัดระบบระเบียบ เป็นแบบอย่างที่ดี และขยายผลไปยังทุกอณูพื้นที่จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้เป็นแผ่นดินแห่งความสุขที่ยั่งยืน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มุ่งเป็นภาคีเครือข่ายกับกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ จะส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและสามารถจัดทำแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรได้ เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา: ข่าวกระทรวงด้านความมั่นคง