ปลัดมหาดไทย ตรวจเยี่ยมพื้นที่ปลูกไผ่ซางหม่น และตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านครึ่งใต้ ชื่นชมต้นแบบการบริหารจัดการขยะของเทศบาลตำบลครึ่ง พร้อมเป็นกำลังใจในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดก



พิมพ์

 


ปลัดมหาดไทย ตรวจเยี่ยมพื้นที่ปลูกไผ่ซางหม่น และตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านครึ่งใต้ ชื่นชมต้นแบบการบริหารจัดการขยะของเทศบาลตำบลครึ่ง พร้อมเป็นกำลังใจในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดก

ปลัดมหาดไทย ตรวจเยี่ยมพื้นที่ปลูกไผ่ซางหม่น และตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านครึ่งใต้ ชื่นชมต้นแบบการบริหารจัดการขยะของเทศบาลตำบลครึ่ง พร้อมเป็นกำลังใจในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.65) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริเวณพื้นที่ปลูกไผ่ซางหม่น ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัญชา เชาวรินทร์ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ และคณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ปลูกไผ่ซางหม่น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เป็นการให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้เป็นผู้นำในการ Change for Good ด้วย Passion ความตั้งใจที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวตำบลบุญเรือง ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา คือ ต้องช่วยกันสืบทอดสิ่งที่ดีงามให้ลูกหลานได้เจริญเติบโตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยมีพวกเราเป็นแม่พิมพ์ เป็นต้นแบบได้ ซึ่งในชีวิตจริง ต้นแบบที่สำคัญที่สุดคือ คนในครอบครัวในหมู่บ้าน ทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่มิใช่เป็นเพียงต้นแบบที่ดีจากการอยู่ในศีลธรรม ไม่สำมะเลเทเมา ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นพื้นฐาน แต่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีของการเป็นผู้ที่มีลักษณะเป็นบัวพ้นน้ำ ด้วยการใช้ชีวิตโดยน้อมนำพระราชดำรัส หลักคำสอนของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี 4,700 โครงการ เช่น แก้มลิง หรือหลุมขนมครก ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับพื้นที่รับน้ำในช่วงหน้าฝน และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง

สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องเข้าใจบริบทของคนในตำบลบุญเรือง กล่าวคือ คนต้องการมีรายได้ เพราะเขาต้องการนำเงินรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาให้มีความสุข ดังนั้น รายได้เป็นเพียงขั้นต้น แต่แก่นแท้ คือ ทำอย่างไรให้เขาพึ่งพาตนเองได้ เริ่มจากปัจจัย 4 ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า อาหาร ยารักษา รู้จักทำมาหากิน ปลูกผักสวนครัว มีหมู เป็ด ไก่ มีสมุนไพร ในบ้าน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” อันเป็นสัจจะวาจาที่พระองค์ท่านทรงขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเราจะแก้ไขในสิ่งผิดได้ ก็ด้วยการหมั่นคุยกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งเป็นหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน จึงขอให้ได้ช่วยกันสร้างความรับรู้เข้าใจกับประชาชน และช่วยขับเคลื่อนขยายผล อาทิ บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ทหารพันธุ์ดี ฯลฯ ในพื้นที่ตำบลบุญเรือนแห่งนี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวอีกว่า ขอให้อำเภอเชียงของได้สนับสนุนส่งเสริมการวางแผนจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด โดยการวางแผนพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการ เข้ามาทำประโยชน์อเนกประสงค์ หรือเรียกว่า “อารยเกษตร” เกษตร คือ ผืนดิน อารยะ คือ ความเจริญรุ่งเรือง เป็นอารยธรรม อารยประเทศ ต้องมีการปรับปรุงพื้นดินเป็นพื้นที่ที่นำเอาทฤษฎีใหม่หลาย ๆ ทฤษฎี โดยพื้นฐานต้องมีแหล่งน้ำ คลองไส้ไก่เหมือนลำธารลำห้วย คดเคี้ยวเลี้ยวลด อย่าไปติดกับเกษตรเชิงเดี่ยว ต้องมีพืชพันธุ์ธัญญาหารกลมกลืนกัน ต้องทำแบบมีการวางแผน ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงสนพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่แท้จริง สะท้อนผ่านการเรียนรู้โคก หนอง นา โดยทรงมีพระอัจฉริยภาพ สามารถสรุปรวบยอดคำบรรยายเป็นร้อย ๆ หมื่น ๆ คำ เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ เช่น โคก หนอง นา แห่งความสุข โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เป็นต้น ทั้งนี้ ขออนุโมทนาในความตั้งใจอันดีงามและกระทรวงมหาดไทยยินดีสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการ “พึ่งพาตนเอง”

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการขยะเปียก โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ การปลูกหวายและการแปรรูปหวาย ภายใต้โครงการ Change for Good เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP และรับฟังการบรรยายสรุปการสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Water Intelligent Management System : WIM.Sys) ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านครึ่งใต้ ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องผู้นำในพื้นที่ที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน โดยขอชื่นชมการดำเนินงานของเทศบาลตำบลครึ่ง ที่มีระบบบริหารจัดการขยะ ที่เป็นต้นแบบที่สามารถแสดงให้นานาชาติได้เห็นว่า เป็นชุมชนตัวอย่าง รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ โดยขอให้ได้ช่วยกันรักษาแนวทางการบริหารจัดการนี้ให้มีความยั่งยืนเพื่อช่วยกัน Change for Good ให้กับโลก เพื่อลดภาวะโลกร้อน เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก และขอให้อำเภอเชียงของได้นำ Best Practise นี้ ไปขยายผลให้ครบทั้งอำเภอ ทั้งนี้ ขอให้เทศบาลตำบลครึ่งได้ต่อยอดการทำงานในเรื่องดังกล่าวโดยเราต้องคิดเป็นมูลค่า คือ ส่วนที่ไม่ได้ขายก็ต้องนำมาคิดด้วย เช่น การทำปุ๋ยหมักเป็นเหมือนยาไทยเป็นปุ๋ยให้กับดินและรักษาสิ่งแวดล้อม และเทศบาลต้องคิดค่าบริหารจัดการขยะทั้งระบบประกอบในการติดตามและประเมินผล นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการในด้านการคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต นั่นคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันสอดคล้องเป็นไปตามพันธสัญญาตามเจตนารมณ์ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงนาม “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน” ร่วมกับผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทยเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาด้วย

ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนทุกคน ในการช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการรักษาโลกใบเดียวนี้ ด้วยการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และถ่ายทอดสิ่งดีๆไปสู่ชั่วลูกชั่วหลาน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

 

แหล่งที่มา: ข่าวกระทรวงด้านความมั่นคง

Leave a Comment