อธิบดี กสร. ล็อกมาตรการความปลอดภัยฯ ออก “5 กฎเหล็ก” คุมเข้มไซต์ก่อ…

ผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง ภายหลังจากกระทรวงแรงงานมีคำสั่งเร่งด่วนให้ทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
และปริมณฑล เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุร้ายแรง หลังเกิดเหตุโครงสร้างสะพานพระราม 2 พังถล่ม และอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทรุดตัวขณะก่อสร้างจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
             เรือเอก สาโรจน์ อธิบดี กสร. กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งทีมเฉพาะกิจด้านความปลอดภัยในงานก่อสร้าง โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้รับเหมาชั้นต้น ผู้รับเหมาช่วง และองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ แคมเปญ Safe Cons Together 90 Days กำหนดกฎเหล็ก 5 ข้อ ให้สถานประกอบกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ได้แก่
1. ต้องกำหนดเขตก่อสร้างและเขตอันตรายชัดเจน – เพื่อป้องกันอันตรายแก่แรงงานและประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
2. การออกแบบโครงสร้างรับน้ำหนักต้องเป็นไปตามมาตรฐาน – เพื่อลดความเสี่ยงต่อการพังถล่มจากข้อบกพร่องทางวิศวกรรม
3. เครื่องจักรหนักต้องได้รับการตรวจสอบตามหลักวิศวกรรม – เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างมีความปลอดภัยและพร้อมใช้งาน
4. เน้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ควบคุมงานและผู้อนุมัติ – ต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
5. ลูกจ้างต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัมส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน – เช่น หมวกนิรภัย ถุงมือ รองเท้าเซฟตี้ และอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ
           สำหรับมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 7 กรกฎาคม 2568 ซึ่งระหว่างนี้ทีมเฉพาะกิจจะลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ และให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบและดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานในกรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง 
           “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับมาอย่างชัดเจนว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อลดความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานติดตามผลการดำเนินมาตรการ
อย่างใกล้ชิด โดยหากพบสถานประกอบกิจการใดละเลยมาตรการดังกล่าว จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่เพียงมาตรการชั่วคราว แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของภาคการก่อสร้างในระยะยาว หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถลดอุบัติเหตุและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้น
ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยได้อย่างแท้จริง” อธิบดี กสร. กล่าวทิ้งท้าย

—————————-

แหล่งที่มา: ข่าวกระทรวงด้านความมั่นคง

Leave a Comment