เป็นที่ทราบกันดีว่าเอสเอ็มอีมีทรัพยากรที่จำกัดโดยเฉพาะเงินทุน ดังนั้น เงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจชี้เป็นชี้ตายในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในโลกของการค้าขายโดยสุจริตระหว่าง “ผู้ซื้อ” กับ “ผู้ขาย” เป็นการทำงานแบบพึ่งพาอาศัยกัน
แต่ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ผู้ซื้อจะพยายามยืดระยะเวลาการจ่ายเงินหรือกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (credit term) ออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะหากเป็นผู้ซื้อรายใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง จึงเป็นเรื่องยากที่เอสเอ็มอีจะต่อรองได้ ส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่องสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจต่อไป
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีทั่วโลกเช่นกัน ในต่างประเทศมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วยการออกมาตรการที่ดีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน (cash flow) ให้แก่เอสเอ็มอี โดยอาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ 1) มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายกรณีผู้ซื้อจากเอสเอ็มอีเป็นหน่วยงานภาครัฐ 2) มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายจากผู้ซื้อที่เป็นบริษัทห้างร้านเอกชน
กลุ่มแรกที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐนั้น สหรัฐมีกฎหมาย US Federal Prompt Payment Act (PPA) กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจ่ายเงินให้แก่คู่สัญญาหลักภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งให้ชำระหนี้ (invoice) โดยงวดสุดท้ายต้องจ่ายภายใน 30 วัน กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้สำหรับโครงการทั่วประเทศที่ใช้งบประมาณจากรัฐบาลกลางของสหรัฐ และมี คู่สัญญาเป็นเอสเอ็มอี พบว่ามีบางมลรัฐได้นำ หลักการนี้ไปออกเป็นกฎหมายในระดับมลรัฐด้วย
ในขณะที่อินเดียมีกฎหมายบังคับใช้เฉพาะหน่วยงานรัฐให้ต้องชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่เอสเอ็มอีภายใน 45 วัน หากล่าช้ากว่าที่กำหนด หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างต้องชำระดอกเบี้ยทบต้นในอัตรา 3 เท่าของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
กลุ่มที่สองเป็นการจัดซื้อจัดจ้างกันเองระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน (B2B) สหราชอาณาจักรมีโครงการ Prompt Payment Code ภายใต้การดูแลของ UK Small Business Commissioner กำหนดให้บริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการต้องชำระหนี้ให้แก่คู่สัญญาในสัดส่วน 95% ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ภายในระยะเวลา 60 วัน และหากเป็นการซื้อจากกิจการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน จะต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน
บริษัทที่ลงนามต้องรายงานระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าอย่างต่อเนื่อง และเปิดเผยเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบ ติดตาม และนำไปประมวลผลได้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ UK Small Business Commissioner ในเดือน ก.ค.2565 แสดงให้เห็นว่ามีธุรกิจที่สมัครใจ ลงนามเข้าร่วมโครงการนี้แล้วเกือบ 4,000 แห่ง
ส่วนสหรัฐนอกจาก PPA จะบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังใช้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ของการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยกำหนดให้การจ่ายเงินของคู่สัญญาหลัก (prime contractor) ไปสู่ผู้รับจ้างช่วง (subcontractor) และผู้ขายสินค้า (suppliers) ในลำดับต่อๆ ไปต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับชำระจากคู่สัญญาของตนเองในลำดับก่อนหน้า แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ว่าจ้าง/ผู้ซื้อต้องยอมรับผลงานหรือสินค้าของผู้รับจ้าง/ผู้ขายแล้วด้วยเช่นกัน ในกรณีมีการชำระเงินล่าช้า จะมีบทลงโทษให้ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายดอกเบี้ยทบต้นให้แก่คู่สัญญาด้วย
นอกจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ สหรัฐมีกลไกการติดตามและรายงานผล โดย Small Business Administration (SBA) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ให้เอสเอ็มอี โดยการรับปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบภาครัฐไปหารือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือกับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีจัดทำข้อเสนอการปรับปรุง กฎระเบียบของภาครัฐเพื่อลดภาระให้แก่เอสเอ็มอี
SBA ต้องติดตามความก้าวหน้าของการผลักดันข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อีกด้วย และที่สำคัญคือ SBA มีหน้าที่ ต้องรายงานผลการดำเนินงานให้รัฐสภาสหรัฐทราบทุกปี โดยที่รัฐสภามีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐต่างๆ นั่นเอง กลไกนี้เหมือน “การเขียนเสือให้ วัวกลัว”
สำหรับอินเดียมี Micro and Small Enterprises Facilitation Council (MSEFC) อยู่ภายใต้กระทรวงเอสเอ็มอี ทำอีกหน้าที่หนึ่งคือการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ขายที่เป็นเอสเอ็มอีและประสานไปยังหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อติดตามการจ่ายเงินที่ล่าช้าและดูแลให้เอสเอ็มอีได้รับการชดเชยความเสียหายตามที่กฎหมายกำหนด
หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ได้ออกประกาศ เรื่อง”แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2564 กำหนดระยะเวลาให้ผู้ซื้อที่เป็นเอกชนต้องชำระเงินให้เอสเอ็มอีไม่เกิน 45 วัน กรณีที่เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วไป และระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน กรณีที่เป็นการซื้อสินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แต่ก็ยังไม่มีการระบุหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานเพื่อแก้ปัญหาการเบิกจ่าย เงินล่าช้าให้เอสเอ็มอี
สำนักงาน กขค.เป็นเพียงหน่วยงานที่พิจารณาบทลงโทษสำหรับผู้ซื้อที่จ่ายเงินให้เอสเอ็มอีช้ากว่าที่ควร ซึ่งเป็นโทษปรับทางปกครอง (เงินเข้ารัฐแต่ไม่เข้ากระเป๋า SME) แต่ไม่ได้มีหน้าที่ไปติดตามทวงถามหนี้ให้กับ SME
นอกจากนี้ เรายังไม่มีการจัดเก็บและเผยแพร่ฐานข้อมูล credit term ตามที่ปรากฏในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างกับระยะเวลาจริงที่มีการเบิกจ่ายเงินสำเร็จ ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม เพื่อให้สำนักงาน กขค.และภาคประชาสังคมสามารถทำการตรวจสอบได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นได้
หากเรามีการออกข้อบังคับให้หน่วยงาน รัฐชำระเงินให้คู่สัญญาหลักเร็ว และให้คู่สัญญาชำระเงินต่อให้คู่ค้าของเขาเร็วตามไปด้วย รวมทั้งมีการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล credit term ปัญหา “การดึงเช็ง” ชำระเงิน ให้เอสเอ็มอีก็น่าจะบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง ประเด็นนี้นับเป็นโจทย์สำคัญที่ ทุกภาคส่วนจะมาช่วยกันหาคำตอบใน การส่งเสริม เอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชน
บทความ โดย เทียนสว่าง ธรรมวณิช และ ยศ วัชระคุปต์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ เอสเอ็มอีผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนภายใต้การศึกษา เรื่อง “แนวทางการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)” โดย ทีดีอาร์ไอและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในตอนต่อไปจะเป็นการถอดบทเรียนของต่างประเทศในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
Source: TDRI CC BY NC-SA 4.0