ทั้งนี้ เซลล์ความชราภาพที่ร่างกายของผู้สูงอายุสร้างขึ้นมา มีความเชื่อมโยงกับสภาวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น ภาวะสมองเสื่อมและโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ยังศึกษาเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษาอาการต่าง ๆ ของความชราภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เครื่องมือที่น่าจะดีที่สุดในการต่อต้านผลกระทบเชิงลบของความชราภาพก็คือ การออกกำลังกายนั่นเอง
วิเวียนา เปเรซ มอนเตซ (Viviana Perez Montes) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติหรือ NIH กล่าวถึงเรื่องเซลล์ความชราภาพว่า เป็น “ประเด็นที่ร้อนแรงมาก” ขณะที่ สำนักข่าวเอพีรายงานโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลการวิจัยของ NIH ว่า มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ประมาณ 11,500 โครงการที่เกี่ยวข้องกับความชราภาพ มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 โโดยมีโครงการมากมายที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
การวิจัยในประเด็นนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า เซลล์นั้นหยุดการแบ่งตัวและเข้าสู่สถานะ “ชราภาพ” เพื่อตอบสนองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในร่างกาย ก่อนที่ร่างกายจะขับเซลล์ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ออกไป
แต่ เนธาน เลบราสเซอร์ (Nathan LeBrasseur) จาก เมโย คลีนิก (Mayo Clinic) กล่าวว่า เซลล์ชราภาพอื่น ๆ ที่ยังคงอยู่ในร่างกายนั้นอาจทำร้ายเซลล์ที่ใกล้เคียงได้ โดยเขาเปรียบเทียบเซลล์เหล่านั้นว่า เป็นเหมือนผลไม้ที่เสียแล้วหนึ่งผลที่สามารถทำให้ผลไม้ทั้งตะกร้าเสียตามไปได้
บรรดานักวิทยาศาสตร์บางรายจึงตั้งคำถามว่า เราจะสามารถหยุดการสร้างเซลล์ความชราของร่างกายได้หรือไม่?
เลบราสเซอร์ กล่าวว่า ความสามารถในการเข้าใจถึงเรื่องของความชราภาพ เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ในการปฏิรูปสุขภาพของมนุษย์ เพราะการยืดอายุของการมีสุขภาพที่ดีได้จะส่งผลต่อ “คุณภาพชีวิต” และ “การสาธารณสุข” ด้วย
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2050
แม้ว่าจะไม่มีใครคิดว่าการชราภาพเป็นกุญแจสำคัญในการมีอายุยืนยาว แต่ คริสโตเฟอร์ ไวลีย์ (Christopher Wiley) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) หวังว่า จะมีสักวันหนึ่งที่ผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิตเหมือนปู่ของเขาที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีจำนวนลดน้อยลง
แต่ ไวลีย์ ย้ำว่า เขา “ไม่ได้กำลังค้นหาน้ำพุแห่งความเยาว์วัย” แต่ “กำลังมองหาน้ำพุที่ช่วยให้ไม่ต้องเจ็บป่วยเมื่อแก่ตัวลง” เท่านั้นเอง
การวิจัยชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายช่วยต่อต้านการก่อตัวของเซลล์ในวัยชรา นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันขจัดเซลล์เหล่านี้ออก และต่อสู้กับความเสียหายของโมเลกุลที่อาจส่งผลต่อกระบวนการชราภาพอีกด้วย
เมื่อปีที่แล้ว เลบราสเซอร์ นำทีมทำการศึกษาที่ให้หลักฐานชิ้นแรกว่า การที่มนุษย์เราออกกำลังกายส่งผลต่อกระบวนการชราภาพอย่างมาก โดยการออกกำลังกายนั้นช่วยลดสัญญาณในกระแสเลือดของผลกระทบต่าง ๆ ของเซลล์ชราภาพในร่างกายด้วย
หลังจากดำเนินการตามหลักสูตรการออกกำลังกายเป็นเวลา 12 สัปดาห์ นักวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุมีอาการชราภาพลดลง และมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สมรรถภาพทางกายและสุขภาพที่ดีขึ้น
แม้ว่าการศึกษาในเรื่องนี้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนนอกวงการวิทยาศาสตร์ แต่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เข้าใจความเชื่อมโยงของความอ่อนเยาว์และการออกกำลังกายอยู่แล้ว
Featured Photo by RUN 4 FFWPU