เมื่อญี่ปุ่นได้ไฟเขียวปล่อยน้ำปนเปื้อนกากปรมาณูลงทะเล

VOA – สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency) รับรองขั้นสุดท้ายต่อแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าไดอิชิ ลงมหาสมุทรแปซิฟิก

ญี่ปุ่นหวังว่าการรับรองจากไอเออีเอจะช่วยคลายความกังวลของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านและประชาชนญี่ปุ่นเอง รวมทั้งชุมชนชาวประมงที่ต่อต้านโครงการดังกล่าว

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการไอเออีเอ กล่าวจากกรุงโตเกียวว่า แผนปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นสอดคล้องตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของไอเอเอีเอว่าด้วยผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อสิ่งแวดล้อม

กรอสซีส่งมอบรายงานการตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายให้กับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ในวันอังคาร ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าจะเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อใด โดยผู้นำญี่ปุ่นรับปากว่าจะปล่อยน้ำเสียเหล่านั้นลงทะเลก็ต่อเมื่อแน่ใจว่าไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์

“ญี่ปุ่นจะยังคงอธิบายเรื่องนี้ต่อประชาชนญี่ปุ่นและประชาคมโลกอย่างจริงใจต่อไป… โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และด้วยความโปร่งใสในระดับสูง” นายกฯ คิชิดะกล่าวต่อสื่อมวลชนในวันอังคาร

กระบวนการปั๊มและกรองน้ำก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเล เรียกว่า Advanced Liquid Processing System หรือ ALPS จะใช้วิธีกรองกัมมันตรังสีออกจากน้ำปนเปื้อนแล้วนำไปเจือจางจนต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาราว 30-40 ปี เนื่องจากปริมาณน้ำเสียมหาศาลหลายล้านตันที่บรรจุอยู่ในถังน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1,000 ลูกตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของญี่ปุ่น

บรรษัทการไฟฟ้ากรุงโตเกียว หรือ TEPCO (Tokyo Electric Power Company) จะเป็นผู้บำบัด ทำให้เจือจาง และปล่อยน้ำเสียในจำนวนที่ควบคุมไว้ โดยน้ำเหล่านั้นถูกใช้ในการหล่อเย็นแกนปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 สร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์ทั้งสามแห่งของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวิกฤตด้านนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986

ผู้สนับสนุนแผนปล่อยน้ำเสียระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการนี้ หลังจากที่ TEPCO ยืนยันว่าจะไม่มีพื้นที่เก็บน้ำเสียเหล่านั้นอีกต่อไปหลังจากครึ่งปีแรกของปี 2024

แต่บรรดาผู้คัดค้าน รวมถึงประชาชนในจีน เกาหลีใต้ และประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก แสดงความกังวลต่อข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอในการประเมินผลกระทบจากเรื่องนี้ รวมถึงอันตรายในระยะยาวจากกัมมันตรังสี ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสัตว์น้ำต่าง ๆ

กระทรวงต่างประเทศจีนมีแถลงการณ์ในวันอังคารหลังคำประกาศของไอเออีเอ แสดงความเสียใจที่มีการรับรองแผนปล่อยน้ำเสีย พร้อมเตือนว่าญี่ปุ่นจะต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ในการเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 วัน ผอ.ไอเอเอีเอ ยังจะทำพิธีเปิดสำนักงานถาวรของไอเออีเอที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าในวันพุธนี้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินกิจกรรมต่าง ๆ ในการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลในช่วงหลายสิบปีจากนี้ด้วย

写真出典:首相官邸ホームページ(URL)

Leave a Comment