สงครามในยูเครน และมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของประเทศโลกตะวันตกต่อรัฐเซีย ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศในยุโรปที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหลายประเทศในเอเชียด้วย
ความต้องการพลังงานอย่างมากของยุโรป หลังการเกิดสงครามในยูเครนและการที่ประเทศโลกตะวันตกห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดพลังงานโลก และผลักดันราคาให้พุ่งสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายประเทศในเอเชีย ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน มากกว่าการบรรลุเป้าหมายพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เคยตั้งไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่า บางประเทศร่ำรวยได้หันไปเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาด หรือ clean energy ในขณะที่บางประเทศนั้นตัดสินใจว่าจะยังไม่ลดการใช้พลังงานฟอสซิล
จีนและอินเดีย: สร้างพลังงานในประเทศ
การใช้พลังงานของจีนและอินเดีย และการหาแหล่งพลังงานมาเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศนั้น สามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
ในระยะสั้น จีนและอินเดียต้องหันไปพึ่งพาพลังงานจากการเผาไหม้ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดและสกปรกที่สุด และยังเป็นตัวสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอีกด้วย
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยรัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ net zero emissions ภายในปี 2060 ซึ่งหมายความว่าจีนจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก
ตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน จีนไม่เพียงแต่จะหันไปนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มการผลิตถ่านหินภายในประเทศด้วย สงครามในยูเครน รวมทั้งวิกฤติภัยแล้ง และวิกฤติพลังงานภายในประเทศ ทำให้จีนต้องให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชาน มากกว่าจะลดการใช้พลังงานถ่านหินที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนอินเดียนั้น วางแผนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ช้ากว่าจีนหนึ่งทศวรรษ อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสามของโลก ก่อนหน้านี้อินเดียต้องการใช้พลังงานน้อยมาก แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการพลังงานของอินเดียจะพุ่งแซงหน้าประเทศอื่น ๆ และยังคาดว่าอินเดียจะต้องการงบ 233 พันล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดได้ในปี 2030
เช่นเดียวกับจีน อินเดียกำลังมองหาหนทางที่จะเร่งการผลิตถ่านหินเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่มีราคาสูง นอกจากนั้น อินเดียยังเป็นลูกค้าซื้อน้ำมันจากรัสเซียถึงแม้ประเทศโลกตะวันตกจะออกมาตรการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซียก็ตาม
อย่างไรก็ดี ความต้องการพลังงานอย่างสูงของทั้ง่จีนและอินเดีย ก็ทำให้สองประเทศนี้ตระหนักดีว่าจะต้องเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในประเทศด้วยเช่นกัน โดยจีนเป็นประเทศผู้นำของการใช้พลังงานหมุนเวียน และพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล
ส่วนอินเดียนั้นลงทุนอย่างมหาศาลให้กับการผลิตพลังงานหมุนเวียน และตั้งปณิธานว่าจะใช้พลังงาน 50% จากแหล่งพลังงานสะอาดภายในปี 2030 อีกด้วย
ญี่ปุ่นและเกาหลี: ส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์
ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นประเทศที่พัฒนามากที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นสองประเทศที่กำลังผลักดันการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ หรือ พลังงานปรมาณู หลังจากที่รัสเซียทำการบุกรุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ห้ามไม่ให้นำเข้าถ่านหินและก๊าซจากรัสเซีย ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันไปหาแหล่งพลังงานทางเลือก ถึงแม้ว่าจะยังมีกระแสต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หลังเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ เมื่อ 11 ปีก่อนก็ตาม
ฤดูร้อนของญี่ปุ่นที่มาถึงก่อนกำหนด ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ และทำให้รัฐบาลกรุงโตเกียวประกาศแผนเร่งการตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาใช้ได้อีกครั้ง
ญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ไม่เกิน 1 ใน 4 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการประเมินในแง่บวกจนเกินไป เพราะการผลักดันในปัจจุบันชี้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะมีบทบาทอย่างมากต่อการใช้พลังงานของประเทศ
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากสงครามในยูเครน เพราะเกาหลีใต้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศกาตาร์และออสเตรเลีย และนำเข้าน้ำมันจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่กลุ่มประเทศยุโรปที่กำลังพยายามเสาะแสวงหาพลังงานจากแหล่งประเทศผู้ผลิตเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น
รัฐบาลกรุงโซล ได้สนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นเดียวกับญี่ปุ่น และได้แสดงความลังเลที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เพราะเห็นว่ายังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
อินโดนีเซีย: “ป้องกันความเสียหาย”
สงครามในยูเครนที่ส่งผลให้ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้น ได้บีบให้รัฐบาลกรุงจาร์กาตาตัดลดการให้ความช่วยเหลือหรือการให้เงินอุดหนุนของรัฐ เพื่อพยุงราคาน้ำมัน และค้ำยันไม่ให้ราคาค่าไฟสูงจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม อนิสสา อาร์ ซูฮาร์โซโน (Anissa R. Suharsono) แห่ง สถาบันนานาชาติแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development) กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า นี่เป็นวิธีการ “ปฏิรูปแบบเร่งรีบ” โดยที่ไม่ได้หาทางแก้ปัญหาว่าจะทำให้อินโดนีเซียลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2060 ได้อย่างไร
เธอกล่าวว่าวิธีนี้เป็นการก้าวถอยหลัง เพราะเปรียบเหมือนการต่อสู้กับไฟ แก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินอันดับหนึ่งของโลก และได้เพิ่มการส่งออกถ่านหินขึ้นเป็น 1.5 เท่า ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนในปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในทวีปยุโรป ข้อมูลของรัฐบาลยังระบุว่าในปีนี้ อินโดนีเซียยังได้ผลิตถ่านหินกว่า 80% แล้ว เมื่อเทียบกับปริมาณถ่านหินทั้งหมดในปีที่ผ่านมา
อินโดนีเซียจะต้องเพิ่มงบประมาณด้านพลังงานสะอาดสามเท่าภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุ net zero emissions ภายในปี 2060 จากการประเมินของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ International Energy Agency แต่ซูฮาร์โซโน กล่าวว่าเธอไม่แน่ใจว่าอินโดนีเซียจะทำได้อย่างไร
ที่มา: เอพี ทาง VOAThai