รัสเซียเปิดฉากการซ้อมรบร่วมกับกองทัพจีนและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อตอกย้ำความร่วมมือด้านกลาโหมที่ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างมอสโกและปักกิ่ง ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองกับสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดหนัก
การซ้อมรบในรูปแบบเกมสงครามที่เริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดีนั้นมีจุดประสงค์ที่จะแสดงให้โลกรู้ว่า แสนยานุภาพทางทหารของมอสโกมีอยู่เพียงพอแม้ในเวลาที่ รัสเซียส่งทหารของตนเข้าไปรุกรานยูเครนก็ตาม
กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า การซ้อมรบ Vostok 2022 นั้นจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 7 กันยายน ที่พื้นที่ซ้อมยิง 7 แห่งในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียและในทะเลญี่ปุ่น โดยจะมีทหารกว่า 50,000 นายและหน่วยอาวุธกว่า 5,000 หน่วย ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรบ 140 ลำและเรือรบ 60 ลำเข้าร่วมด้วย
รายงานข่าวระบุว่า พลเอก วาเลรี เกราซิมอฟ หัวหน้าคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมรัสเซีย จะเป็นผู้ทำการควบคุมดูแลการซ้อมรบครั้งนี้ที่มีทหารจากประเทศอดีตสมาชิกโซเวียตหลายประเทศ รวมทั้ง จีน อินเดีย ลาว มองโกเลีย นิคารากัว และซีเรีย เข้าร่วม
กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยด้วยว่า กองทัพเรือรัสเซียและกองทัพเรือจีนที่ประจำอยู่ในทะเลญี่ปุ่นจะ “ร่วมฝึกมาตรการป้องกันการสื่อสารทางทะเล และการปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเล รวมทั้งการสนับสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินที่ประจำอยู่บริเวณชายฝั่งด้วย”
การซ้อมรบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างกรุงมอสโกและกรุงปักกิ่งที่แนบแน่นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยจีนปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัสเซีย และกล่าวหาสหรัฐฯ และองค์การนาโต้ว่า เป็นผู้ยั่วยุมอสโกก่อน ทั้งยังประณามการดำเนินมาตรการลงโทษมอสโกด้วย
ขณะเดียวกัน รัสเซียก็แสดงจุดยืนสนับสนุนจีนอย่างเต็มที่ ในช่วงที่เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตัน หลังจาก ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาพผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนกรุงไทเป โดยปธน.ปูติน มองว่า การที่สหรัฐฯ สนับสนุนยูเครนและการเดินทางเยือนไต้หวันของ ส.ส.เพโลซี นั้นเหมือนกันในแง่ของการแสดงให้เห็นถึงความพยายามของกรุงวอชิงตันที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพโลก
อเล็กซานเดอร์ กาบูเยฟ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองที่ติดตามความสัมพันธ์รัสเซียและจีนอย่างใกล้ชิด ตั้งข้อสังเกตว่า “การร่วมซ้อมรบกับมอสโก ซึ่งรวมถึงการซ้อมรบทางน้ำ มีจุดประสงค์ที่จะส่งสัญญาณว่า หากกรุงปักกิ่งถูกกดดันต่อเนื่อง (จีน) จะไม่มีทางเลือกอื่นแต่ยกระดับความเป็นพันธมิตรทางทหารกับรัสเซีย” และว่า ประเด็นนี้จะ “มีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหลาย ซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น ด้วย”
ในส่วนของรัสเซียนั้น กาบูเยฟ มองว่า เครมลินต้องการจะแสดงให้เห็นสรรพกำลังทางทหารของตนว่ามีอำนาจเพียงพอที่จะทำอะไรก็ได้ แม้จะกำลังทำสงครามในยูเครนอยู่ก็ตาม
ที่มา: วีโอเอ
ที่มาของภาพ: Ministry of Defense of the Russian Federation (CC BY-4.0)