ตัวแทนจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก เห็นพ้องต้องกันในวันพุธในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หลังการประชุมยืดเยื้อมาอีก 1 วันเพราะหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวไม่ได้
การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ดำเนินมาร่วม 2 สัปดาห์ ที่ประชุมมีปฏิญญาเรียกร้อง “ให้เปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน อย่างยุติธรรม เป็นระเบียบ และเท่าเทียม เพื่อเร่งดำเนินการในทศวรรษที่สำคัญนี้”
นอกเหนือจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในปฏิญญาดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้เพิ่มพลังงานทางเลือกเป็น 3 เท่าตัว ภายในปี 2050 และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือก อย่างเช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
ก่อนหน้านี้ กว่า 100 ประเทศพยายามผลักดันให้มีการจัดทำปฏิญญาในเวทีนี้ที่มีถ้อยความที่แข็งขันในเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิล ถึงขั้นให้มีการระบุว่าจะ “ค่อย ๆ ลด” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ว่า “สำหรับผู้ที่คัดค้านการระบุถึงการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปฏิญญาเวที COP28 ผมอยากจะบอกว่าการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม” และ “หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นช้าเกินไป”
พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล คิดเป็นสัดส่วน 80% ของพลังงานที่ใช้กันทั่วโลก รวมถึงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนี้ราว 2 ใน 3 อ้างอิงจากข้อมูลของสหประชาชาติ
สำหรับการบังคับใช้ปฏิญญาดังกล่าวจะอยู่ในมือของแต่ละประเทศ และวิถีทางที่แต่ละชาติจะนำนโยบายนี้มาปรับใช้และมีการลงทุนในเรื่องนี้
- VOA Thai