วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565
ปลัดมหาดไทยย้ำต้อง “ทำงานเป็นทีมไม่มีพรมแดนของการเป็นกรม” ขับเคลื่อนการทำงานสู่เป้าหมายสูงสุดสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน
ปลัดมหาดไทยย้ำต้อง “ทำงานเป็นทีมไม่มีพรมแดนของการเป็นกรม” ขับเคลื่อนการทำงานสู่เป้าหมายสูงสุดสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายพรพจน์ เพ็ญพาส นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปรีชา เดชพันธุ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล นางสุจิตรา ศรีนาม นายสุธน ศรีหิรัญ นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัด และนายอำเภอ ร่วมประชุม ที่ห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามการดำเนินงานของกรม รัฐวิสาหกิจ และทุกจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ชาวมหาดไทยทุกคนจะต้องยึดถือในการทำงาน คือ ต้องมี Passion ของการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ด้วยการ “ทำงานเป็นทีมโดยไม่มีพรมแดนของการเป็นกรม” เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะงานของทุกกรมต่างมีเป้าหมายปลายทางเดียวกันนั่นคือ “คุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน” ดังนั้น จึงต้องใช้เวทีในการประชุมร่วมกันนี้ เป็นพื้นที่ในการวิพากษ์กัน เสนอแนะข้อคิดเห็นในการทำงานร่วมกัน ซึ่งการพูดคุย หารือ แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ในเนื้องานนี้ถือเป็นอารยธรรมที่ดีในการทำงาน จึงขอให้ทุกคนได้ช่วยกันทำให้เกิดการ Change for Good เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีในการจัดระบบบริหารราชการในระดับพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ต้องเป็น “ผู้นำของจังหวัด” ทำหน้าที่อำนวยการ ติดตาม ประเมินว่าผลงานสำเร็จมากน้อยขนาดไหน และต้องปรับปรุงแก้ไข เสริมแรงบวกในจุดใด พื้นที่ใด “ต้องเอาใจใส่” ในทุกงานของพื้นที่ ยกระดับความเข้มข้นของการทำหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และภาคีเครือข่าย ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของการทำงานโดยยึดพี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลางและช่วยกันบริหารจัดการแบบบูรณาการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญกับการดูแลนักเรียนผู้รับทุนพระราชทานในโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา มีงาน มีอาชีพที่มั่นคง นอกจากนี้ ต้องค้นหาเด็กในพื้นที่จังหวัดที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดโอกาสในการได้รับการศึกษา และช่วยกันให้เด็ก ๆ เหล่านั้นได้รับโอกาสที่ดีในการศึกษาเล่าเรียน รวมถึงช่วยดูแลครอบครัวยากไร้ทั้งที่มีลูก และไม่มีลูก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยใช้ข้อมูลจาก Thai QM หรือ TPMAP เป็นเป้าในการดำเนินการ และต้องยึดมั่นใน 1 จังหวัด 17 คำมั่นสัญญาการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความเท่าเทียมในชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดของท่าน ซึ่งเราไปลงนาม MOU กับ UN ภายใต้ชื่อ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน ดั่งพระโอวาทที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสอนไว้ว่า “ต้องรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน หมั่นสร้างพันธมิตรในการพัฒนา โดยสร้างทีมคณะกรรมการหมู่บ้านของทุกหมู่บ้าน และทีมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเราในทุกตำบล/หมู่บ้าน ด้วยการขับเคลื่อนโครงการนายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ในทุกพื้นที่จังหวัด นอกจากนี้ คนมหาดไทยต้องเป็นผู้มีหัวใจที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบ 36 พรรษา ด้วยการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดของตำบล จำนวน 1 หมู่บ้าน แล้วสร้างทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่มีความเข้มแข็ง โดยบูรณาการหมู่บ้าน/ตำบลที่ดีอยู่แล้วไปยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านที่พัฒนาน้อยที่สุด ให้เกิดความรัก ความสามัคคี เป็นสังคมปลอดยาเสพติด ผู้คนยึดเหนี่ยวประเพณีวัฒนธรรม มีความมั่นคงด้านอาหาร บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้บ้านเมืองอยู่ในสภาวะเหมาะสม มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีน้ำเพียงพอ อันจะยังผลให้เกิดการพัฒนาทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกหมู่บ้านของตำบลและทุกชุมชนในเขตเทศบาล
“หมู่บ้านยั่งยืน หรือ Sustainable Village เป็นพระดำริที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในโอกาสเข้าเฝ้าทูลถวายรายงานการดำเนินงานตามพระดำริและรับพระราชทานคำแนะนำ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ณ วังศุโขทัย และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565 กระทรวงมหาดไทยได้ขอพระราชทานพระอนุญาตในการน้อมนำแนวพระดำริมาขับเคลื่อนเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 อันประกอบด้วย 1) การเชิญชวนให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้พร้อมใจกันสวมใส่ชุดผ้าไทยผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทุกสี ทุกเทคนิค ในทุกวันพฤหัสบดี เพื่อร่วมกันแสดงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดี โดยพร้อมเพรียงกัน และ 2) หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City เพื่อให้พวกเราทุกคนผู้มีอุดมการณ์ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
จากนั้น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และสะท้อนแนวคิดในการพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพ ยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน
“มิติใหม่ของคนมหาดไทย คือ 1) ทำงานเป็นทีม ทำงานอย่างบูรณาการ 2) มุ่งหวังทำในสิ่งที่เรียกว่า “ความยั่งยืน (Sustainable)” และ 3) มีหลักคิด หลักการเลือกพื้นที่ทำงาน ที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เลือกหมู่บ้านที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดให้เป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพ หมู่บ้านที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข กระตุ้นปลุกเร้าสร้างปัญญา กระตุ้นความคิดของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านให้ลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชน พัฒนาหมู่บ้าน ของตัวเองให้ดี เพราะความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้ “อยู่ที่กลไกมหาดไทยทุกคนในพื้นที่”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
แหล่งที่มา: ข่าวกระทรวงด้านความมั่นคง