น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (18 เม.ย. 68) เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานในการมอบเงินค่าจัดการศพผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 จำนวน 100,000 บาท ให้แก่ น.ส.ชลิดา ทองพุฒ ทายาทของ นายชัชวาล ทองพุฒ ชาวพิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในเหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหว และทายาทประสงค์จะรับเงินค่าจัดการศพเพื่อดำเนินการที่กรุงเทพมหานคร โดยนายอนุทิน ได้ให้กำลังใจและพูดคุยกับทายาทผู้เสียชีวิต และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ส่วนการมอบเงินค่าจัดการศพแก่ทายาทของผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ ฝ่ายปกครองได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิตทั้ง 11 จังหวัดแล้ว จะมีการลงพื้นที่เพื่อมอมเงินค่าจัดการศพภายในวันนี้ (18 เม.ย. 68)
“นอกจากการเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวแล้ว นายอนุทิน ยังได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานกับทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกวดขัน ป้องกันอุบัติภัยต่างๆ ตลอดจนเตรียมการให้พร้อมสำหรับการบริหารจัดการภัยพิบัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในส่วนภัยธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม ที่เกิดตามฤดูกาลที่มีแผนรับมืออยู่แล้ว ขอให้ดำเนินการตามแผนงานอย่างเคร่งครัดตั้งแต่การแจ้งเตือน การอพยพ ช่วยเหลือ โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินการมาตรการป้องกันและการเตือนภัยนายอนุทิน ได้มอบหมายให้ ปภ. นำข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนโยบายของนายอนุทิน หารือร่วมหน่วยที่เกี่ยวข้อง นำระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast มาใช้ในการแจ้งเตือน ซึ่งระบบดังกล่าว จะทำการแจ้งข้อมูลแผ่นดินไหว เมื่อความรุนแรงแผ่นดินไหวถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนภัย คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในประเทศขนาด 4.0 ขึ้นไป กรมอุตุนิยมวิทยา จะเป็นผู้ส่งข้อความแรก (First Message) ไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรงผ่านระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ หลังจากนั้น ปภ. จะเป็นผู้ส่งอัพเดทสถานการณ์ วิธีปฏิบัติตัว จนกระทั่งสิ้นสุดภัย
ส่วนการแจ้งเตือนภัยอื่น เช่น พายุฤดูร้อน น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง หน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน สทนช. จะส่งข้อมูลการแจ้งเตือนภัยมายัง ปภ. หลังจากนั้นหน่วยงานดังกล่าว จะทำการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกันในรูปแบบของ War Room เมื่อถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนภัย ปภ. จะส่งคำแจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast
ทั้งนี้ การส่งข้อความผ่านระบบ Cell Broadcast ที่ทำได้ ณ ปัจจุบัน ก่อนที่ระบบ Cell Broadcast Entity หรือ CBE ของ ปภ. จะแล้วเสร็จ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย (AIS/True/NT) จะรับข้อความแจ้งเตือนจาก ปภ. หลังจากนั้นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะส่งข้อความแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast Centre หรือ CBC ไปก่อน เพื่อส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ยังได้กำชับให้ทั้ง ปภ. จังหวัด และท้องถิ่นเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสิทธิรวมถึงช่องทางในการขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น เมื่อในพื้นที่ได้ประกาศเขตภัยพิบัติและเขตให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถขอรับการช่วยเหลือได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ประสบภัย และผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอื่น ยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสบภัย โดยในพื้นที่ กทม. มีระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ค่าที่พักอาศัยชั่วคราว (ค่าเช่าบ้าน) เงินปลอบขวัญกรณีได้รับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัย ค่าเงินทุนประกอบอาชีพ กรณีเครื่องมือประกอบอาชีพหลักได้รับความเสียหายไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
แหล่งที่มา: ข่าวกระทรวงด้านความมั่นคง