ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Commitment) ขององค์กรภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยการกำหนดเป้าหมายได้อิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (climate science) ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน The Science Based Target initiative (SBTi) Net-Zero Standard และนำไปสู่แผนดำเนินงานระยะยาว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การดำเนินการนี้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกองค์กร และสนับสนุนความพยายามในการควบคุมให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤตโลกร้อนเป็นภาวะเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะผู้มีบทบาทส่งเสริมตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดทั้งกระบวนการทำงานขององค์กร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้
“การตั้งเป้าหมาย Net Zero สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น ในการร่วมแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน ซึ่งนำไปสู่การวางแผนการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ตามมาตรฐานของ SBTi ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและใช้อย่างแพร่หลายในระดับสากล โดยการตั้งเป้าหมายนี้จะครอบคลุมทั้งขอบเขตที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากกิจกรรมขององค์กร ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน และขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้กำหนดแผนดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร และสร้างความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” นายภากรกล่าว
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร ทั้งจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ จนได้รับการรับรองอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตรฐานสากล LEED Platinum: Operation and Maintenance (O+M) ระดับสูงสุด จาก U.S. Green Building Council (USGBC) นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมแนวปฏิบัติการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดหาสินค้าและบริการ และการลดการใช้กระดาษด้วยบริการนำส่งเอกสารสิทธิหรือรายงานต่างๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นในการให้บริการงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) แทนการจัดส่งทางไปรษณีย์ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, Governance: ESG) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุน ควบคู่การส่งเสริมให้นำหลักการดังกล่าวมาบูรณาการในกระบวนการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และสามารถ
ปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยส่งเสริมความรู้มาอย่างต่อเนื่องในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยง การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
เกี่ยวกับ The Science Based Targets initiative (SBTi)
SBTi เป็นองค์กรระดับสากลที่สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (climate science) โดยมุ่งผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งก่อนปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ก่อนปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดย SBTi ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Carbon Disclosure Project (CDP), The United Nations Global Compact (UNGC), World Resources Institute (WRI), The World Wide Fund for Nature (WWF) และเป็นส่วนหนึ่งใน We Mean Business Coalition commitments SBTi มีบทบาทกำหนดและส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีรวมถึงประเมินและอนุมัติการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทต่างๆ ตามแนวทางของ SBTi
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม www.sciencebasedtargets.org
Provided by Veritimes